วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ปลัดขิกครูบาจันต๊ะ อนาวิโล







ต้องยอมรับว่า วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังของท่านครูบาจันต๊ะ อนาวิโล แห่งวัดหนองช้างคืน จ.ลำพูน มาแรงจริงๆ ครับ และสำหรับในตอนนี้คงจะต้องกล่าวถึงเครื่องรางของขลัง สายครูบาจันต๊ะ อีกอย่างหนึ่งที่มาแรงไม่แพ้ตะกรุดเลยก็ว่าได้ เครื่องรางที่จะกล่าวถึงนั้นก็คือ ปลัดขิกไม้แกะครูบาจันต๊ะ อนาวิโล
ในการสร้างปลัดขิกครูบาจันต๊ะนั้นเริ่มสร้างประมาณปี พ.ศ. 2538 หลังการสร้างพระขุนแผนประมาณ 1 ปี โดยในการสร้างครั้งแรกนั้นได้ใช้ไม้คูน (ต้นลมแล้ง) ตาพรายมาสร้าง พร้อมกับพระปิดตาไม้แกะของท่านครูบา ซึ่งจำนวนในการสร้างปลัดขิกครั้งแรกนั้นไม่มีข้อมูลแน่ชัดแต่จากคำบอกเล่าของลูกศิษย์ท่านแล้วไม่น่าจะเกิน 300 ตัวเท่านั้นโดยวิธีการสร้างนั้นได้นำไม้คูนตายพรายมาซอยผ่าเป็นซีกๆแล้วนำไปกลึงให้ได้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 12 มิลลิเมตร แล้วจึงนำไปแกะครับ เมื่อแกะเสร็จแล้วได้มีการตกแต่งด้วยกระดาษทรายให้เรียบร้อยทุกตัว ฉะนั้นปลัดขิกครูบาจันต๊ะที่สร้างครั้งแรกนั้นต้องสวยทุกตัวครับ เสร็จแล้วครูบาจันต๊ะจึงได้ลงอักขระบนปลัดขิกทุกตัว ซึ่งบางตัวใช้ดินสอ บางตัวใช้ปากกา หรือที่พบเห็นใช้เหล็กจารอย่างเดียวก็มี พอสร้างเสร็จก็กลายเป็นที่ต้องการของบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของท่านมาก จนของที่ทำไม่พอแจก จากนั้นจึงได้มีการสร้างอีกครั้งในปีเดียวกันแต่ไม้ที่ใช้ทำจะแตกต่างกันกับตอนที่สร้างครั้งแรกคือ ใช้ไม้ขนุน , มะยม , ไม้สัก , เขากวาง , งาช้าง และ กัลปังหาดำ เป็นต้น เป็นเพราะว่าในการสร้างครั้งที่ 2 นี้ต้องสร้างให้ทันก่อนสิ้นปีเพราะจะได้ถือว่าเป็นรุ่นเดียวกัน ท่านครูบาจันต๊ะจึงให้ลูกศิษย์ช่วยกันแกะมากกว่า 1 คน ฉะนั้นพอแกะเสร็จ ปรากฎว่าศิลปะในการแกะของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงมีการใช้โค๊ดตอกบนปลัดขิก ชึ่งเป็นโค๊ดตัวเดียวกันกับที่ใช้ตอกพระบิดดาไม้แกะครับ สำหรับโค๊ดที่ใช้ตอกนั้นจะมี 3 ชนิด คือ ต.หางสั้น , ต.หางยาว และตัวดอกจันครึ่งเลี้ยวครับ ซึ่งก็ได้พบว่าในการสร้างปลัดขิกครั้งที่ 2 นี้มีทั้งที่ได้ลงอักขระและไม่ได้ลงอักขระ เพราะว่าไม้บางชนิดนั้นมีความแข็งมาก



หลายท่านอาจสับสนในการแยกแยะปลัดขิกของครูบาดวงดี และครูบาจันต๊ะครับ ปลัดขิกของครูบาดวงดีนั้นสร้างภายหลังครูบาจันต๊ะหลายปีครับ แตไม้ที่ใช้ส่วนมากจะเป็นชนิดเดียวกันกับครูบาจันต๊ะและผู้สร้างถวายก็เป็นคน ๆ เดียวกัน ต่างกันตรงที่การจารอักขระและโค๊ดที่ใช้ตอกครับ สำหรับครูบาดวงดีนั้นจะเป็นการจารแบบสวยงาม ซึ่งในการจารนั้นไม่ได้ใช้เหล็กจารครับแต่จะใช้หินกรอฟันในการจารครับ ซึ่งดูสวยงามกว่าครูบาจันต๊ะ ส่วนโค๊ดที่ใช้ตอกนั้นครูบาจันต๊ะจะมีสามตัวคือ ต.หางสั้น ต.หางยาว และดอกจันเท่านั้นครับ ขอย้ำว่ามีโค๊ดแค่สามตัวเท่านั้น ที่สำคัญที่สุดต้องตอกทั้งสามตัวครับ สำหรับครูบาดวงดีนั้นจะตอกโค๊ด ด.ครับ ไม่ใช้ ต. แต่ในการตอกนั้น โค๊ด ด.นั้นไม่มี ก็เลยใช้โค๊ด ต. แทนแต่ก็มีการดัดแปลงตัว ต. ให้เหมือนตัว ด. แต่ในที่สุดโค๊ดที่ใช้ตอกก็ดูคล้ายกับ ต. อยู่ดี เลยทำให้คนที่แสวงหาปลัดขิกครูบาจันต๊ะเข้าใจผิดเพี้ยนไปครับ โปรดพิจารณาให้ดี ครูบาจันต๊ะตัวจริงนั้นจะต้องมีสามโค๊ดครับ
ซึ่งพุทธคุณของปลัดขิกครูบาต๊ะ อนาวิโลนั้นได้ยอมรับเป็นเสียงเดียวกันในบรรดาผู้ที่ใช้ ในเรื่องของเมตตานิยม , โชคลาภ , ค้าขาย และการดำเนินธุรกิจต่างๆ ในการเช่าหาปลัดขิกครูบาต๊ะ อนาวิโลนั้น ผู้ที่เช่าต้องมั่นใจในที่มาของปลัดขิก ประกอบกับต้องเคยเห็นของแท้มาก่อน และสามารถดูโค๊ดให้เป็น ซึ่งในสนามพระนั้นสนนราคาเช่าหาอยู่ประมาณหลักพันต้นๆ ถึงพันกลางๆ ครับขึ้นอยู่กับความสวยงามและเนื้อวัสดุที่ใช้แกะปลัดขิก สำหรับ เนื้อวัสดุที่ใช้แกะน้อยสุดและหายากที่สุด คืองาช้าง , เขากวางและกัลปังหาคำ ครับ


ต้นไม้มงคล