วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2552

ขุนแผนครูบาจันต๊ะ กรุกอไม้ไผ่







ขุนแผนครูบาจันต๊ะ อนาวิโลรุ่น 1
กรุกอไม้ไผ่
หากจะเอ่ยนามของท่านครูบาจันต๊ะ อนาวิโลแล้ว คงจะเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นท้องที่ภาคเหนือ หรือแม้กระทั้งภาคอื่น ๆ ซึ่งชื่อเสียงของท่านโด่งดังไปทั่วประเทศแล้ว และถ้าจะพูดถึงวัตถุมงคลของครูบาจันต๊ะ อนาวิโลที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และเป็นที่นิยมกันมากที่สุด คงหนีไม่พ้นพระเครื่องพิมพ์พระขุนแผน หรือที่เรียกว่า ขุนแผนครูบาจันต๊ะรุ่นแรก ขุนแผนครูบาจันต๊ะ อนาวิโล สร้างขึ้นเมื่อปี 2537 โดยคุณเมี้ยน เปียผ่องเป็นผู้ถวาย ลักษณะของพระขุนแผนเป็นทรงนั่งประทับมารวิชัย ในซุ้มเรือนแก้ว ลักษณะรูปห้าเหลี่ยม แบ่งแยกทั้งหมดได้ 4 พิมพ์ อันได้แก่ พิมพ์เกศสั้น พิมพ์ตาโปน พิมพ์ขอบตก และ พิมพ์หูติ่ง แบ่งแยกสีทั้งหมดได้ 5 สี คือ ขาว แดง เหลือง เขียว ( สีทหาร ) และดำครับ สำหรับสีขาวและสีเขียวทหาร สร้างน้อยที่สุด สีขาวเป็นสีเดิมของเนื้อมวลสารที่นำมาสร้างพระขุนแผนรุ่นแรก แต่พอกดพิมพ์พระได้ไม่มาก เกิดการเลอะและเปื้อนของเนื้อพระ ทำให้แลดูแล้วไม่สวยงาม จึงมีการเปลี่ยนสีของมวลสารพระให้หลากหลายขึ้น ได้แก่สีเหลืองซึ่งใช้สีผสมอาหารและผงขมิ้นบดผสมลงไป จากนั้นจึงเปลี่ยนมาทำสีแดงซึ่งใช้สีผสมอาหารผสมกับผงกระเบื้องโบสถ์ มาตำให้ละเอียดแล้วผสมลงไป พอกดพระขุนแผนได้จำนวนมากพอแล้วปรากฏว่ามวลสารที่ใช้กดนั้นเหลือน้อยมาก จึงมีการเผาใบลานผสมลงไปกลายเป็นสีดำครับ ซึ่งถ้าครกใดผสมผงใบลานน้อยเนื้อพระก็จะออกเป็นสีเขียวทหาร หรือเทาครับ โดยวัตถุประสงค์ในการสร้างนั้นก็เพื่อสมทบทุนในการสร้างศาลาหลังใหม่ ถ้าทำบุญไม่ว่าจะมากหรือ น้อยก็ได้แค่คนละองค์เท่านั้นครับ
จำนวนในการสร้างพระขุนแผนนั้นประมาณ 6,000 องค์เศษ พอถวายให้ท่านครูบาแล้ว ก็จัดการแบ่งพระออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกถวายให้ท่านครูบาประมาณ 4,000 องค์ ส่วนที่สองได้นำไปถวายให้วัดที่ภาคกลาง ซึ่งไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าวัดอะไร แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดที่ จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ อีก 2,000 องค์ โดยการที่ถวายให้ครูบาจันต๊ะ อนาวิโล 4,000 องค์นั้น ท่านครูบาจันต๊ะได้นำออกมาให้ประชาชนร่วมทำบุญได้ประมาณ 3,000 องค์เท่านั้น ส่วนพระที่ยังเหลือได้เก็บไว้ในลังกระดาษ และบาตรในกุฏิของพระเลขาของวัด จากนั้นได้เกิดไฟไหม้กุฏิขึ้น โดยมีการขนย้ายของมีค่าและพระเครื่องอย่างชุลมุน ทำให้พระส่วนหนึ่งที่อยู่ในบาตร กระเด็นตกพื้นลอดช่องไม้กระดานที่พื้น ตกลงไปในใต้ถุนกุฏิ อีกส่วนหนึ่งได้ถูกไฟใหม้หมด เมื่อไฟมอดดับลงได้พบว่า ได้มีพระส่วนหนึ่งตกอยู่ใต้ถุนกุฏิ และเปียกน้ำเนื่องจากการดับไฟ จึงมีการนำพระที่เก็บได้นี้ไปทิ้งไว้บริเวณกอไม้ไผ่หลังวัด ซึ่งเมื่อหลังจากที่ครูบาท่านได้มรณะภาพแล้ว ได้มีการรื้อกอไม้ไผ่หลังวัดเพื่อจะจัดบริเวณเพื่อประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ ได้พบพระขุนแผนชุดนี้ ซึ่งพบว่าเนื้อของพระนั้นเกิดการผุกร่อนผิวลอกและบางองค์มีคราบราดำคล้ายคราบกรุเกิดขึ้น โดยจำนวนที่พบนั้นประมาณ 100 องค์เท่านั้น จึงมีการเรียกพระชุดนี้ว่า กรุกอไม้ไผ่

....ต้น ไม้มงคล.....

วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2552


เครื่องรางของขลังครูบาจันต๊ะ
ตอนที่ 2 เสือครูบาจันต๊ะ อนาวิโล
หลังจากที่ได้เสนอข้อมูลในเรื่องของเครื่องรางของเครื่องรางของขลังครูบาจันต๊ะ อนาวิโลมาแล้วถึง 1 ตอน ปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับจากผู้อ่านอย่างมาก ทั้งนี้ต้องขอขอบพระคุณสำหรับผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามผลงานและเป็นกำลังใจให้มาตลอด และต้องขอบอกว่าข้อมูลที่หามาให้ท่านผู้อ่านนี้ หายากจริงๆ เพราะว่าลูกศิษย์ของท่านครูบาจันต๊ะ อนาวิโลบางท่าน ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าครูบาท่านสร้างอะไรบ้าง เพราะเครื่องรางของขลังบางชนิดนั้น สร้างน้อยมาก จนบางครั้งกว่าจะหารูปภาพมาประกอบนนั้นเลือดตาแทบกระเด็น
สำหรับตอนที่ 2 นี้ จะกล่าวถึงเครื่องรางของขลังของครูบาจันต๊ะ อนาวิโล อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าหายากที่สุดก็ว่าได้นั้นคือ ”เสือครูบาจันต๊ะ อนาวิโล” เสือครูบาจันต๊ะนั้น สร้างจากเขากวางป่า โดยคุณเมี้ยน เปียผ่อง เป็นผู้นำมาถวายแก่ครูบาจันต๊ะ อนาวิโล สร้างประมาณปี พ.ศ.2541-2542 จำนวนน้อยมาก ไม่น่าเกิน 50 ตัวเท่านั้น ขนาดลูกศิษย์ที่มาเยี่ยมท่านบ่อยๆ ยังไม่ได้ไว้ติดตัวเลยก็มี เพราะว่าแจกไปไม่เท่าไรของก็หมดแล้ว เพราะฉะนั้น เสือเขากวางแกะของครูบาจันต๊ะ จึงเป็นที่ต้องการของบรรดาลูกศิษย์ลูกหาสายตรงและบรรดาผู้ที่นิยมสะสมอนุรักษ์เครื่องรางเป็นอย่างยิ่ง
เสื่อครูบาจันต๊ะนั้น จะมีศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ของท่านอยู่ คือขาข้างหน้าจะโค้ง และจะมีการเจาะรูผ่านกลางตัวเสือ ทุกชิ้นเหมือนท่านต้องการจะร้อยเชือกไว้แต่ยังไม่ทันที่จะทำการร้อยเชือก ของก็หมดแล้ว นอกจากนี้แล้วยังมีการลงอักขระไว้ที่ด้านล่างของตัวเสือ หรือบางองค์ ก็พบว่าได้มีการลงอักขระที่ตัวของเสือก็มี ซึ่งขนาดของเสือที่พบเห็นจะสูงประมาณ 1 ซ.ม-2 ซ.ม ไม่เคยพบตัวที่ใหญ่กว่านี้
ซึ่งพุทธคุณของเสือเขากวางแกะครูจันต๊ะ อนาวิโลนั้น เด่นไปทางเมตตามหานิยม และบารมีมหาอำนาจ ประกอบกับความหายากของเสือแล้วผู้ที่มีไว้ครอบครองเป็นต้องหวงแหนทุกคน ในสนานพระนั้นพบเห็นน้อยมาก หรือแทบจะพูดได้ว่า นานทีปีหนจะเห็นซักตัว สนนราคาในการเช่าบูชาเสือของครูบาจันต๊ะนั้น ขึ้นอยู่กับความพอใจในการที่จะขายและความต้องการที่อยากจะได้ ฉะนั้นราคาจึงไม่แน่นอนตายตัวครับ แต้ถ้าจะให้ประมาณราคาน่าจะอยู่ที่หลักพันกลาง ๆ ล่าสุดมีการเช่าบูชาเสือเขากวางแกะครูบาจันต๊ะ อนาวิโล โดยเซียนพระสายนครสวรรค์ท่านหนึ่ง ซึ่งชื่อคล้ายกับเครื่องบิน และเป็นลูกศิษย์สายตรงครูบาจันต๊ะ มาตั้งแต่ยังไม่ได้ติดยศ ได้เช่าเสือครูบาจันต๊ะจากตลาดพระทิพย์เนตรเมืองเชียงใหม่ในราคาเกือบหมื่นบาทไปแล้ว ..... โอ้โฮ.....ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับผม

ต้น ไม้มงคล










เครื่องรางของขลังครูบาจันต๊ะ
ตอนที่ 1 ขุนช้างครูบาจันต๊ะ
เป็นที่ถกเถียงกันอยู่พักหนึ่งในการจัดหมวดหมู่เครื่องรางนั้น ซึ่งวัตถุมงคลที่เรียกว่าพิมพ์ขุนช้าง จะจัดให้เป็นเครื่องรางหรือพระเครื่องกันแน่ เพราะว่าที่แท้จริงแล้วผู้สร้างมีความประสงค์ที่จะสร้างขุนช้างให้เป็นพระเครื่อง แต่เมื่อการเสวนาเสร็จสิ้นก็สรุปได้ว่าให้จัดวัตถุมงคลพิมพ์ขุนช้าง ไว้อยู่ในหมวดของเครื่องราง เหมือนกับ นางกวัก กุมารทอง หรือ อิ่น สาเหตุก็เพราะว่าลักษณะของขุนช้างนั้นเป็นคนหรือบุรุษทั่วไป มิได้เป็นตัวแทนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นขุนช้างครูบาจันต๊ะ อนาวิโล จึงอยู่ในหมวดหมู่ของเครื่องรางของขลังเมืองล้านนาครับ
ตามพงศาวดารหรือวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องขุนช้าง - ขุนแผนนั้น ตัวละครที่มีชื่อว่าขุนช้างนั้น มีลักษณะตัวอ้วน หัวล้าน หน้าตาไม่มีเสน่ห์ ซึ่งมองดูแล้วไม่เป็นที่ต้องตาต้องใจ แก่บรรดาหญิงสาวทั้งหลาย ซึ่งต่างกับตัวละครที่ชื่อว่าขุนแผนซึ่งมีรูปร่างหน้าตาสง่างาม ผิวพรรณ วรรณะผุดผ่องดังทองเนื้อเก้า ผู้ใดเห็นก็รักก็หลง แต่ถ้าย้อนกลับไปดูในเนื้อหาวรรณกรรมแล้วตัวขุนช้างจะมีดีกว่าขุนแผนตรงมีเงินมีทองใช้ตลอด ร่ำรวย ซึ่งต่างกับขุนแผนที่ไม่ค่อยมีเงินใช้ ติดคุกเป็นว่าเล่น เสียกับผู้หญิงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ พระเครื่องพิมพ์ขุนแผนจึงมีพุทธคุณเด่นไปทาง เมตตามหานิยมและมหาอุดครับ
ที่นี้ย้อนกลับมาเรื่องขุนช้างครูบาจันต๊ะบ้าง ท่านนั้นได้สร้างวัตถุมงคลของท่านเป็นพิมพ์ขุนช้างและให้เป็นเนื้อผง ซึ่งจะกล่าวได้ว่า เป็นรุ่นแรกของท่านเลยก็ว่าได้ ขุนช้างครูบาจันต๊ะสร้างถวายโดย คุณเมี้ยน เปียผ่อง เมื่อ 15 มิถุนายน 2535 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 อธิฐานจิตโดย ครูบาจันต๊ะ วัดหนองช้างคืน (ลำพูน) , ครูบาดวงดี วัดท่าจำปี (เชียงใหม่) , ครูบาหน้อย วัดบ้านปง (แม่แตง) , ครูบาอินสม วัดทุ่งน้อย (พร้าว) ลักษณะการสร้างแบ่งออกเป็น 2 พิมพ์ คือพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก ซึ่งในการแบ่งแยกพิมพ์บางครั้งอาจสับสนบ้าง เพราะว่าขนาดของขุนช้างนั้นใกล้เคียงกัน จึงให้สังเกตที่ผ้าขาวม้าตรงหน้าตักของขุนช้าง ถ้าเป็นพิมพ์ใหญ่ผ้าขาวม้าตรงหน้าตักจะชัดและแหลมกว่าพิมพ์เล็ก โดยขุนช้างครูบาจันต๊ะ อนาวิโล มีจำนวนการสร้างทั้งหมดดังนี้ (1) พิมพ์ใหญ่เนื้อขยาสาร์ตทาทอง 221 องค์ ,(2) พิมพ์เล็กเนื้อขยาสาร์ตทาทอง 244 องค์ , (3) พิมพ์ใหญ่เนื้อธรรมดาไม่ทาทอง 714 องค์ , (4) พิมพ์เล็กเนื้อธรรมดาไม่ทาทอง 1,371 องค์ , (5) พิมพ์ใหญ่เนื้อขยาสาร์ตทาทองฝังตะกรุดทองคำหลวงพ่อคูณ 1 องค์ และ (6) พิมพ์เล็กเนื้อขยาสาร์ตทาทองฝังตะกรุดทองคำหลวงพ่อคูณ 1 องค์ รวมทั้งสิ้นในจำนวนการสร้างทั้งหมดมี 2,252 องค์เท่านั้นครับ โดยในการสร้างขุนช้างนี้ ได้ทำการแบ่งวัตถุมงคลให้กับครูบาท่านต่าง ๆ ที่ได้นำไปอธิฐานจิต โดยมีจำนวนดังนี้ ครูบาดวงดี จำนาน 134 องค์ , ครูบาอินสม จำนวน 135 องค์ , ครูบาหน้อย จำนวน 110 องค์ โดยขุนช้างส่วนใหญ่ที่นำไปถวายให้กับครูบาที่กล่าวมาทั้งสามท่านนี้ จะเป็นขุนช้างเนื้อธรรมดา และพิมพ์เล็กทาทองเท่านั้น จะไม่มีขุนช้างพิมพ์ใหญ่ที่ทาทองไปถวายท่านเลย เพราะฉะนั้นสรุปได้ว่าขุนช้างพิมพ์ใหญ่เนื้อขยาสาร์ต ทาทองนั้น ออกที่วัดหนองช้างคืนเพียงที่เดียวครับ

ต้น ไม้มงคล