วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2552

ขุนแผนครูบาจันต๊ะ กรุกอไม้ไผ่







ขุนแผนครูบาจันต๊ะ อนาวิโลรุ่น 1
กรุกอไม้ไผ่
หากจะเอ่ยนามของท่านครูบาจันต๊ะ อนาวิโลแล้ว คงจะเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นท้องที่ภาคเหนือ หรือแม้กระทั้งภาคอื่น ๆ ซึ่งชื่อเสียงของท่านโด่งดังไปทั่วประเทศแล้ว และถ้าจะพูดถึงวัตถุมงคลของครูบาจันต๊ะ อนาวิโลที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และเป็นที่นิยมกันมากที่สุด คงหนีไม่พ้นพระเครื่องพิมพ์พระขุนแผน หรือที่เรียกว่า ขุนแผนครูบาจันต๊ะรุ่นแรก ขุนแผนครูบาจันต๊ะ อนาวิโล สร้างขึ้นเมื่อปี 2537 โดยคุณเมี้ยน เปียผ่องเป็นผู้ถวาย ลักษณะของพระขุนแผนเป็นทรงนั่งประทับมารวิชัย ในซุ้มเรือนแก้ว ลักษณะรูปห้าเหลี่ยม แบ่งแยกทั้งหมดได้ 4 พิมพ์ อันได้แก่ พิมพ์เกศสั้น พิมพ์ตาโปน พิมพ์ขอบตก และ พิมพ์หูติ่ง แบ่งแยกสีทั้งหมดได้ 5 สี คือ ขาว แดง เหลือง เขียว ( สีทหาร ) และดำครับ สำหรับสีขาวและสีเขียวทหาร สร้างน้อยที่สุด สีขาวเป็นสีเดิมของเนื้อมวลสารที่นำมาสร้างพระขุนแผนรุ่นแรก แต่พอกดพิมพ์พระได้ไม่มาก เกิดการเลอะและเปื้อนของเนื้อพระ ทำให้แลดูแล้วไม่สวยงาม จึงมีการเปลี่ยนสีของมวลสารพระให้หลากหลายขึ้น ได้แก่สีเหลืองซึ่งใช้สีผสมอาหารและผงขมิ้นบดผสมลงไป จากนั้นจึงเปลี่ยนมาทำสีแดงซึ่งใช้สีผสมอาหารผสมกับผงกระเบื้องโบสถ์ มาตำให้ละเอียดแล้วผสมลงไป พอกดพระขุนแผนได้จำนวนมากพอแล้วปรากฏว่ามวลสารที่ใช้กดนั้นเหลือน้อยมาก จึงมีการเผาใบลานผสมลงไปกลายเป็นสีดำครับ ซึ่งถ้าครกใดผสมผงใบลานน้อยเนื้อพระก็จะออกเป็นสีเขียวทหาร หรือเทาครับ โดยวัตถุประสงค์ในการสร้างนั้นก็เพื่อสมทบทุนในการสร้างศาลาหลังใหม่ ถ้าทำบุญไม่ว่าจะมากหรือ น้อยก็ได้แค่คนละองค์เท่านั้นครับ
จำนวนในการสร้างพระขุนแผนนั้นประมาณ 6,000 องค์เศษ พอถวายให้ท่านครูบาแล้ว ก็จัดการแบ่งพระออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกถวายให้ท่านครูบาประมาณ 4,000 องค์ ส่วนที่สองได้นำไปถวายให้วัดที่ภาคกลาง ซึ่งไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าวัดอะไร แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดที่ จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ อีก 2,000 องค์ โดยการที่ถวายให้ครูบาจันต๊ะ อนาวิโล 4,000 องค์นั้น ท่านครูบาจันต๊ะได้นำออกมาให้ประชาชนร่วมทำบุญได้ประมาณ 3,000 องค์เท่านั้น ส่วนพระที่ยังเหลือได้เก็บไว้ในลังกระดาษ และบาตรในกุฏิของพระเลขาของวัด จากนั้นได้เกิดไฟไหม้กุฏิขึ้น โดยมีการขนย้ายของมีค่าและพระเครื่องอย่างชุลมุน ทำให้พระส่วนหนึ่งที่อยู่ในบาตร กระเด็นตกพื้นลอดช่องไม้กระดานที่พื้น ตกลงไปในใต้ถุนกุฏิ อีกส่วนหนึ่งได้ถูกไฟใหม้หมด เมื่อไฟมอดดับลงได้พบว่า ได้มีพระส่วนหนึ่งตกอยู่ใต้ถุนกุฏิ และเปียกน้ำเนื่องจากการดับไฟ จึงมีการนำพระที่เก็บได้นี้ไปทิ้งไว้บริเวณกอไม้ไผ่หลังวัด ซึ่งเมื่อหลังจากที่ครูบาท่านได้มรณะภาพแล้ว ได้มีการรื้อกอไม้ไผ่หลังวัดเพื่อจะจัดบริเวณเพื่อประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ ได้พบพระขุนแผนชุดนี้ ซึ่งพบว่าเนื้อของพระนั้นเกิดการผุกร่อนผิวลอกและบางองค์มีคราบราดำคล้ายคราบกรุเกิดขึ้น โดยจำนวนที่พบนั้นประมาณ 100 องค์เท่านั้น จึงมีการเรียกพระชุดนี้ว่า กรุกอไม้ไผ่

....ต้น ไม้มงคล.....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น